ฟันปลอม

ฟันปลอม

p3.isanook

     ฟันปลอม หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ฟันเทียม คือ สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นเลียนแบบฟันเพื่อใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่หายไป ไม่ว่าจะเพื่อความสะดวกในการบดเคี้ยวอาหาร เสริมบุคลิกภาพ ทำให้การออกเสียงชัดเจนขึ้น ป้องกันปัญหาการล้มเอียงของฟันซี่ที่เหลือไปยังช่องว่างของเหงือก รวมทั้งปัญหาเรื่องขากรรไกรที่อาจเกิดขึ้น

ฟันปลอมแบ่งได้กี่ชนิด

paolohospital

ฟันปลอมชนิดถอดได้ 

     อาจใช้ทดแทนซี่ฟันที่หายไปเพียงบางซี่ หรือมากกว่านั้น กรณีที่หายไปเพียงบางซี่ ทันตแพทย์จะกรอแต่งรูปร่างของฟันในบางตำแหน่งให้เป็นที่อยู่ของฐานฟันเทียมและตะขอ เพื่อให้ฟันปลอมสามารถใช้งานได้โดยไม่หลุดออกจากปาก หรือหากเป็นกรณีที่ทำทั้งขากรรไกรก็อาจเป็นการพิมพ์ปากทั้งแนว (บน หรือล่าง) เพื่อเสริมวัสดุเป็นฐานรากไม่ให้ฟันปลอมหลุด ส่วนวัสดุที่ใช้ทำฟันปลอมมักทำจากอะคลิลิก (พลาสติก) หรือโลหะผสม

ฟันปลอมชนิดติดแน่น 

     มีหลายชนิด ถ้าใช้ในการซ่อมแซมฟันซี่ใดซี่หนึ่งเพียงซี่เดียวจะเรียกว่า “ครอบฟัน” แต่ถ้าหากใช้ทดแทนซี่ฟันที่หายไปด้วยจะเรียกว่า “สะพานฟัน” หรือ “สะพานฟันติดแน่น”  ซึ่งทันตแพทย์จะกรอแต่งฟันซี่ข้างเคียงเพื่อสวมสะพานฟัน

รากเทียม 

     การรักษาเพื่อทดแทนซี่ฟันที่หายไปเพียงบางซี่ หลายซี่ หรือทั้งปาก โดยรากเทียมจะทำจากโลหะไทเทเนียมซึ่งมีคุณสมบัติเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อของมนุษย์ ทันตแพทย์จะจะผ่าตัดรากเทียมฝังไว้ในกระดูกขากรรไกรเพื่อทดแทนรากฟันธรรมชาติที่หายไปจากการถอนฟัน จากนั้นจะรอระยะเวลาให้รากเทียมยึดติดกับกระดูกดีแล้วทันตแพทย์จึงสามารถใช้รากเทียมเป็นฐานยึดครอบฟัน สะพานฟัน หรือฟันปลอมได้

     ภายหลังการถอนฟันหลายๆ ซี่ เหงือก และกระดูกจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างค่อนข้างเร็ว ทันตแพทย์จึงปล่อยให้ช่องเหงือกรักษาและเปลี่ยนรูปร่างตัวเองก่อนเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนจะทำฟันปลอมให้ การใส่ฟันปลอมในตอนแรกจะมีความรู้สึกแปลกๆ เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาอยู่ในปาก จากนั้นเมื่อใส่ฟันปลิมเป็นประจำทุกๆ วัน คุณจะค่อยๆ ชินไปเอง ทั้งนี้ทันตแพทย์จะแนะนำให้สวมใส่ฟันปลอมตลอดเวลา ยกเว้นเวลานอนเพื่อให้เหงือกได้พัก และป้องกันเนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบ

เกิดอะไรขึ้นหลังจากใส่ฟันปลอม ?

ความรู้สึกหลังใส่ฟันปลอม

     คนไข้อาจยังรู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคยกับการใส่ฟันปลอมในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก เมื่อผ่านไปสักพักกล้ามเนื้อบริเวณแก้มและลิ้นจะค่อย ๆ คุ้นชินกับการใส่ฟันปลอม ทำให้ใส่หรือถอดฟันปลอมได้อย่างสบายและง่ายดายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดการระคายเคืองหรือเจ็บขึ้นได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ รวมถึงอาจมีน้ำลายไหลออกมามากในช่วงแรก ๆ แต่อาการเหล่านี้จะลดน้อยลงไปเองเมื่อปากเพิ่มคุ้นชินกับการใส่ฟันปลอมแล้ว

ฟันปลอมจะทำให้ดูแปลกไปหรือไม่ ?

     ฟันปลอมนั้นถูกทำขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับสีฟันตามธรรมชาติของตัวคนไข้มากที่สุดจนทำให้คนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงใด ๆ และยังช่วยให้ยิ้มได้อย่างสวยงามและมั่นใจยิ่งขึ้น

ผลกระทบของฟันปลอมต่อการพูด

     การใส่ฟันปลอมอาจทำให้การออกเสียงบางคำทำได้ยากขึ้น ผู้ที่พบปัญหานี้ควรฝึกพูดคำที่พูดไม่ชัดออกมาดัง ๆ บ่อยครั้ง เพื่อช่วยให้คุ้นชินและพูดคำนั้นได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น และหากฟันปลอมเกิดเสียงดังกริ๊กขณะกำลังพูดให้ไปพบแพทย์ที่ให้การรักษา เนื่องจากฟันปลอมอาจเลื่อนหลุดขณะหัวเราะ ไอ หรือยิ้มได้ ทั้งนี้ตำแหน่งของฟันปลอมที่หลุดเลื่อนอาจทำให้เข้าที่ด้วยการกัดเบา ๆ และกลืนน้ำลาย แต่ถ้ายังมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดอยู่ก็ควรปรึกษากับทันตแพทย์ผู้ทำฟันปลอม

จำเป็นต้องใส่ฟันปลอมตลอดเวลาหรือไม่ ?

     ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเวลาในการใส่และถอดฟันปลอม โดยในช่วงหลายวันแรกหลังจากใส่ฟันปลอมอาจให้คนไข้ใส่ไว้ตลอดเวลารวมทั้งขณะนอนหลับ การใส่ฟันปลอมตลอดเวลาอาจทำให้รู้สึกไม่สบายปาก แต่ก็เป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการดูว่ามีบริเวณใดที่ต้องปรับแต่งเพิ่มเติมหรือไม่ และเมื่อฟันปลอมถูกปรับแต่งเพิ่มเติมดีแล้วจึงควรถอดฟันปลอมออกก่อนนอน เพื่อช่วยให้เหงือกได้พัก อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อราในช่องปากด้วย

ฟันปลอมมีอายุยาวนานเท่าไหร่ ?

     ฟันปลอมที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจะสามารถใช้งานได้นานหลายปี แต่ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเมื่อรูปปากมีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากเหงือกหรือกระดูกฟันหดตัวลง เพราะการฝืนใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดีอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ใส่แล้วไม่สบายปาก เจ็บปาก มีกลิ่นปาก หรือเกิดการติดเชื้อได้

การใช้กาวติดฟันปลอม

oldweb.most

     เมื่อใส่ฟันปลอมจนเกิดความคุ้นชินแล้วหรือในกรณีที่เหงือกเกิดหดตัวลง คนไข้อาจต้องใช้กาวติดฟันปลอมช่วยยึด โดยกาวนี้จะช่วยติดยึดฟันปลอมกับเหงือกไว้อย่างมั่นคง เพิ่มแรงกัดและรู้สึกอุ่นใจว่าฟันปลอมจะไม่หลุด นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์กับผู้ใส่ฟันปลอมที่มีอาการปากแห้งที่อาจเกิดจากการรับประทานยาแก้หวัด ผู้ที่มีความบกพร่องทางระบบประสาทอย่างอัมพฤกษ์ หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งอาจส่งผลให้ฟันปลอมยึดเกาะได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าฟันปลอมติดแน่นดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องใช้กาวช่วยอีก

การดูแลรักษาฟันปลอม

ttdcdental

ไม่ว่าฟันปลอมแบบทั้งปากหรือฟันปลอมบางส่วนก็ควรต้องมีการดูแลรักษาให้สะอาด ปราศจากคราบเปรอะเปื้อนและดูดีอยู่เสมอ โดยวิธีการดูแลที่เหมาะสมทำได้ดังนี้

  • ถอดฟันปลอมออกล้างหลังจากรับประทานอาหาร ใช้น้ำชะล้างฟันปลอมเพื่อขจัดคราบอาหารที่ติดอยู่ออก และระหว่างนี้ควรระวังไม่ให้ฟันปลอมหลุดมือหรือตกจนแตกเสียหายได้
  • จับฟันปลอมอย่างระมัดระวังและเบามือ ป้องกันไม่ให้พลาสติกหรือตะขอของฟันปลอมโค้งงอหรือเสียหายขณะถอดออกมาล้างทำความสะอาด
  • ทำความสะอาดช่องปากหลังจากถอดฟันปลอมออกมาแล้ว โดยใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มทำความสะอาดฟันธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ และควรใช้ผ้าก๊อซหรือแปรงขนนุ่มทำความสะอาดลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานปากด้วย
  • แปรงทำความสะอาดฟันปลอมอย่างน้อยวันละครั้ง ทำความสะอาดฟันปลอมอย่างอ่อนโยนด้วยการจุ่มหรือแปรงด้วยน้ำยาหรือเม็ดฟู่สำหรับทำความสะอาดฟันปลอมที่ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เพื่อช่วยขจัดเศษและคราบอาหาร รวมถึงกาวติดฟันปลอมที่อาจเหลือติดค้างอยู่ตามร่องฟันปลอม ทั้งนี้ระวังอย่าใช้น้ำยาทำความสะอาดฟันปลอมในช่องปาก ให้ถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาดนอกปากเท่านั้น
  • แช่ฟันปลอมค้างคืน ฟันปลอมหลาย ๆ ชนิดจำเป็นต้องเก็บในที่ที่มีความชื้นเพื่อคงรูปร่างของฟันปลอมไว้ จึงควรแช่ฟันปลอมไว้ในน้ำเปล่าหรือน้ำยาแช่ฟันปลอมชนิดอ่อน ๆ ข้ามคืน อย่างไรก็ตามผู้ที่ใส่ฟันปลอมควรพูดคุยสอบถามทันตแพทย์ถึงวิธีการเก็บรักษาหรือแช่ฟันปลอมที่เหมาะสม และทำความสะอาดและแช่ฟันตามคำแนะนำของผู้ผลิตหรือแพทย์ที่ติดฟันปลอมให้จะดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์กัดกร่อน และยาสีฟันที่ช่วยให้ฟันขาวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารฟอกสีฟัน เพราะอาจทำให้ฟันปลอมเสียหายและมีสีหมองคล้ำลง รวมถึงการใช้น้ำร้อนที่จะส่งผลให้ฟันปลอมเกิดการบิดงอได้
  • ล้างฟันปลอมก่อนใส่กลับเข้าไปในปาก โดยเฉพาะหากฟันปลอมนั้นถูกแช่ในสารละลายสำหรับแช่ฟันปลอม เนื่องจากสารละลายที่ใช้แช่นี้อาจมีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายและอาจมีผลข้างเคียงให้อยากอาเจียน มีอาการเจ็บหรือแสบร้อนเมื่อกลืนลงไปได้
  • ไปพบทันตแพทย์หากรู้สึกว่าฟันปลอมไม่พอดีหรือเริ่มหลวม เนื่องจากฟันปลอมที่หลวมนั้นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บปวด ระคายเคือง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา
  • ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอ คนไข้จะได้รับคำแนะนำว่าควรมาพบเพื่อตรวจและทำความสะอาดช่องปากบ่อยเพียงใด เพื่อให้มั่นใจว่าฟันปลอมพอดีกับช่องปาก ป้องกันไม่ให้ฟันปลอมหลุดออกหรือเกิดความระคายเคือง และรักษาสุขภาพภายในช่องปากและฟันให้ดีอยู่เสมอ

การรับประทานอาหารด้วยฟันปลอม

     เมื่อคุณเริ่มใส่ฟันปลอมครั้งแรก คุณควรรับประทานแต่อาหารอ่อนๆ ที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และค่อยๆ เคี้ยวโดยใช้ฟันทั้งสองฟาก หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งและอาหารที่มีความเหนียว แข็ง หรือมีความคม ค่อย ๆ ปรับตัวให้สามารถรับประทานอาหารประเภทอื่นๆ ได้ และไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันทำความสะอาดฟันปลอมในช่องปาก 

     หากฟันปลอมของคุณติดกาวอย่างพอดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้กาวติดฟันปลอมแต่อย่างใด แต่หากกระดูกกรามของคุณเกิดหดตัวจนรู้สึกว่า ฟันปลอมหลวม ควรกลับไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข หรือใช้กาวช่วยติด บางคนอาจรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อใช้กาวติดฟันปลอม อย่างไรก็ตาม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์และหลีกเลี่ยงการใช้กาวปริมาณมากเกินไป ทั้งนี้สามารถกำจัดกาวติดออกจากฟันปลอมได้ด้วยสบู่และน้ำ ส่วนคราบกาวที่ติดอยู่ในช่องปากก็สามารถล้างออกด้วยกระดาษทิชชู่ชุบน้ำ หรือด้วยผ้าเนื้ออ่อนชุบน้ำสะอาดนำมาเช็ดฟันปลอมให้ทั่ว

การดูแลช่องปากและทำความสะอาด

     การดูแลความสะอาดช่องปากก็สำคัญพอๆ กับการทำความสะอาดตัวฟันปลอม คุณควรทำความสะอาดฟันปลอมให้สม่ำเสมอเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารที่อาจสะสมอยู่ เนื่องจากฟันปลอมที่ไม่สะอาดจะเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ เช่น กลิ่นปาก โรคปริทันต์ ฟันผุ และการติดเชื้อราในช่องปาก เป็นต้น นอกจากนี้คุณควรแปรงฟันที่เหลืออยู่กับต้องแปรงเหงือกและลิ้นให้สะอาดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุและปัญหาในช่องปากอื่นๆ

  • หากเป็นฟันปลอมชนิดติดแน่น ให้ดูแลเหมือนฟันธรรมชาติด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน เนื่องจากหากทำความสะอาดไม่ดีอาจเกิดรอยผุได้และหากรอยผุลุกลามก็จำเป็นต้องมีการรักษาที่ซับซ้อนตามมา
  • หากเป็นฟันปลอมชนิดถอดได้ แช่ฟันปลอมในสารละลายที่มีฟองฟู่ หรือใส่เม็ดทำความสะอาดฟันลงในน้ำแช่ฟันปลอม เพื่อกำจัดคราบแบคทีเรียที่หลงเหลืออยู่ (ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิต)
  • แปรงและขัดฟันปลอมชนิดถอดได้ด้วยยาสีฟัน หรือสบู่ และล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อกำจัดเศษอาหาร
  • ควรหาภาชนะใส่น้ำมารองไว้ขณะทำความสะอาดฟันปลอมเพื่อป้องกันการแตกหัก
  • การถอดฟันปลอมไว้ข้างนอก ควรให้ฟันปลอมมีความชื้นตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุฟันปลอมเปลี่ยนรูปร่างไป

ควรไปพบทันตแพทย์เมื่อไร

res.cloudinary

     หากต้องใส่ฟันปลอม คุณควรไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ (แม้แต่ฟันปลอมแบบทั้งปากก็ตาม) เพื่อตรวจสภาพหาร่องรอยปัญหาต่างๆ ฟันปลอมมีอายุการใช้งานหลายปีหากดูแลอย่างดี แต่ส่วนใหญ่แล้วเหงือกและกรามของจะหดลงทำให้ฟันปลอมอาจไม่พอดีจนหลวมและหลุดออกมาได้ ดังนั้นให้รีบไปพบทันตแพทย์หากว่า 

  • ฟันปลอมส่งเสียงขณะที่คุณพูด
  • ฟันปลอมหลวม หรือคุณรู้สึกได้ว่า ฟันปลอมไม่พอดีปากอีกแล้ว
  • ฟันปลอมทำให้คุณรู้สึกอึดอัด
  • ฟันปลอมมีความโทรมอย่างเห็นได้ชัด
  • คุณมีสัญญาณของโรคเหงือก หรือฟันผุ เช่น มีเลือดออกตามไรฟัน มีกลิ่นปาก เป็นต้น
  • หากไม่เปลี่ยนฟันปลอมที่เก่าและไม่พอดีเสีย ฟันปลอมอาจสร้างความไม่สบายช่องปากและทำให้คุณเมื่อยปากได้ บางครั้งอาจส่งผลไปถึงการติดเชื้อ หรือปัญหาการรับประทานอาหารและการพูด หรืออกเสียงได้ด้วย

***************************************************************************************************************************************************************************************************************************

     แม้ว่าทุกคนจะไม่อยากใช้ฟันชุดมี่สามที่ชื่อว่า “ฟันปลอม” เลย  แต่เชื่อเถอะว่า หากถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้ฟันปลอมจริงๆ รับรองว่า สิ่งประดิษฐ์นี้จะให้ประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอนค่ะ อย่างน้อยๆ การมีฟันปลอมก็ทำให้ทุกคนรับประทานอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยนะคะ ยิ้มกว้างได้อย่างไม่เคอะเขิน และเป็นตัวช่วยเสริมบุคลิกภาพชั้นดีจริงๆ

หมั่นเช็คสภาพช่องปากและฟันด้วยนะคะ

ด้วยความปรารถนาดีจาก คลินิกทันตกรรมโยซึบะ(❁´◡`❁)

เครดิต pobpad, honestdocs

 

>ปรึกษาทันตแพทย์ ติดต่อสอบถามได้ที่นี่

ปรึกษาทันตแพทย์ ติดต่อสอบถามได้ที่นี่